ต้นไม้-ดอกไม้-สัตว์น้ำ ประจำจังหวัด

ดอกไม้ประจำจังหวัดสมุทรปราการ

ดอกดาวเรือง



ชื่อดอกไม้ ดอกดาวเรือง

ชื่อสามัญ Marigold

ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta Linn.

วงศ์ COMPOSITAE


ลักษณะทั่วไป ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุกทรงพุ่มอายุสั้นหรือหลายปี มีความสูงตั้งแต่ 30–60 ซม. ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบเหมือนขนนก ออกตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปรีหรือรูปหอกแกมขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวกระจุกอยู่ปลายยอด สีเหลืองหรือสีส้ม กลีบดอกวงนอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ โคนดอกเป็นหลอดเล็ก ปลายดอกเป็นรอยหยัก กลิ่นหอมฉุน

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด

สภาพที่เหมาะสม ดินร่วนซุย และอุ้มน้ำได้ดี แสงแดดจัด

ถิ่นกำเนิด 
เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา


ต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรปราการ

ต้นโพทะเล



ชื่อพันธุ์ไม้ โพทะเล

ชื่อสามัญ Portia Tree, Cork Tree, Tulip Tree, Rosewood of Seychelles, Coast Cotton Tree, Yellow Mallow Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thespesia populnea Soland. Ex Correa

วงศ์ MALVACEAE

ชื่ออื่น บากู (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี), ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี), ปอมัดไซ (เพชรบุรี), โพทะเล (ภาคกลาง)

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10–15 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู ขรุขระ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปหัวใจ ดอกสีเหลืองขนาดใหญ่ ออกตามง่ามใบ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลโตขนาด 4 ซ.ม. ผิวแข็ง เมล็ดเล็กยาวคล้ายเส้นไหม

ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด

สภาพที่เหมาะสม ดินทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด ความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ ต้องการน้ำมาก

ถิ่นกำเนิด ป่าชายเลน พบมากทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้



สัตว์น้ำประจำจังหวัดสมุทรปราการ

ปลาสลิด





ปลาสลิด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pectoralis ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่มีลำตัวที่หนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต ปากเล็กอยู่สุดปลายจะงอยปาก ครีบหางเว้าตื้นปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบยาวตามลำตัวตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัวสีดำ และมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัวด้านข้างและหัว ครีบมีสีคล้ำ

ขนาดโดยเฉลี่ย 10-16 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 25 เซนติเมตร นับเป็นปลาในสกุล Trichopodus ที่ใหญ่ที่สุด

มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งของภาคกลาง, ภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศรอบข้าง

พฤติกรรมในการสืบพันธุ์เริ่มขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม โดยจะวางไข่โดยการก่อหวอดตามผิวน้ำติดกับพืชน้ำหรือวัสดุต่าง ๆ มักวางไข่ในช่วงกลางวันที่มีแดดรำไร หลังวางไข่เสร็จแล้วตัวพ่อปลาจะเป็นผู้ดูแลไข่จนฟักเป็นตัว ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 4,000-10,000 ฟอง ในการเลี้ยงทางเศรษฐกิจนิยมให้เป็นการผสมพันธุ์หมู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น